Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Mar 21, 2015
แนวโน้มและพัฒนาการตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
ตอน 2 ตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น (Commercial Paper)

สำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชน (CP) เมื่อเทียบกับตราสารหนี้ระยะยาว นอกจากอายุตราสารที่แตกต่างกันแล้ว จุดประสงค์การออกตราสารหนี้ระยะสั้น (CP) และระยะยาวของภาคเอกชนก็แตกต่างกันด้วย โดยส่วนใหญ่ภาคเอกชนจะออกตราสารหนี้ระยะยาวเพื่อใช้ในการซื้อสินทรัพย์ถาวร หรือเพื่อลงทุนในระยะยาว ในขณะที่การออกตราสารหนี้ระยะสั้น มักเป็นการออกเพื่อใช้ในการบริหารสภาพคล่อง หรือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) นั่นเอง เมื่อวิเคราะห์ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชนแล้ว ปัจจัยที่กระทบต่อตลาดนี้จึงมีความแตกต่างกับตราสารหนี้ระยะยาว นอกจากนี้ ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้น ในประเทศไทยยังมีขนาดเล็กกว่าตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวค่อนข้างมาก โดยมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นมีเพียงประมาณ 27% ของตลาดตราสารหนี้เอกชนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นจะหยุดนิ่งไม่มีการเติบโต ในตอนที่ 2 นี้ จะเป็นการวิเคราะห์แง่มุมต่างๆ และแนวโน้มตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นของไทย

มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชน (CP)

ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นในภาพรวมมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง โดยภาคเศรษฐกิจที่มีการเติบโตมากที่สุด คือ ภาคการเงิน ซึ่งต่างจากตลาดตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน ที่ภาคเศรษฐกิจจริงมีมูลค่าคงค้างสูงกว่าถึงประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ตราสารหนี้ระยะสั้นในภาคเศรษฐกิจจริงก็ได้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องภายในช่วงปี 2008-2014 โดยมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ระยะสั้น ภาคเศรษฐกิจจริงขยายตัวประมาณ 100%

มูลค่าคงค้างทั้งภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงินขยายตัวต่อเนื่อง

มูลค่าคงค้างรวมทั้งตลาดของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทาง ThaiBMA มีมูลค่าคงค้างสูงขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น เป็นที่น่าสังเกตว่าตั้งแต่ช่วงปี 2012 ถึง 2014 มูลค่าตราสารที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นมาก เนื่องมาจากในปี 2012 สำนักงานกลต. ได้อนุญาตให้ตราสารหนี้ระยะสั้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA

ในช่วง subprime crisis (2008-2010) ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นภาคการเงิน มีแนวโน้มมูลค่าคงค้างหดตัวลงอย่างชัดเจน แต่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วภายหลังวิกฤติการณ์ดังกล่าว ในช่วงปี 2012 - 2014 การออกตราสารหนี้ระยะสั้นภาคการเงินที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากธนาคารต่างชาติหลายแห่งระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นจำนวนมาก

ภาคเอกชนมีแนวโน้มจำนวนผู้ออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจาก ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างและมูลค่าการออกตราสารหนี้ใหม่ ที่ช่วยผลักดันให้ตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ปัจจัยอีกประการหนึ่ง คือ จำนวนผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ทั้งในส่วนของผู้ออกที่ขึ้นทะเบียนและไม่ได้ขึ้นทะเบียน จากปี 2004 มีจำนวนผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นที่ขึ้นทะเบียนเพียงไม่ถึง 10 ราย เพิ่มขึ้นเป็น 143 รายในครึ่งแรกของปี 2015 ในส่วนของตราสารหนี้ระยะสั้นที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน หลังปี 2012 มีจำนวนผู้ออกตราสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากทาง กลต. ได้แก้ไขเกณฑ์ซึ่งอนุญาติให้ผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้น ไม่ต้องขึ้นทะเบียนกับ ThaiBMA และ เสนอขายนักลงทุนในวงจำกัดกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (PP: II/HNW) ได้โดยไม่ต้องมี Rating ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ถึงแม้ขนาดของตราสารหนี้ระยะยาวจะใหญ่กว่าตราสารหนี้ระยะสั้นมากถึงเกือบ 3 เท่า แต่ในแง่จำนวนผู้ออกตราสารหนี้ระยะสั้น มีจำนวนผู้ออกมากกว่าตราสารหนี้ระยะยาวมากถึง 4 เท่าในช่วงครึ่งแรกปี 2015 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการเติบโตของมูลค่าตราสารหนี้ระยะสั้นอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

แนวโน้มการกู้เงินระยะสั้นผ่านธนาคารพาณิชย์ เมื่อเทียบกับการมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชน

สำหรับการระดมทุนระยะสั้น ภาคเอกชนยังคงระดมทุนผ่าน 2 ช่องทางไปพร้อมๆ กัน ทั้งจากการออกตราสารหนี้ระยะสั้นและการกู้เงินระยะสั้นผ่านธนาคารพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาพบว่าการเติบโตของมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเศรษฐกิจจริงมีการเติบโตที่สูงกว่าการกู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์

จากกราฟด้านซ้าย จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นมา แม้ว่าทั้ง 2 ช่องทางการระดมทุนจะมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน แต่การออกตราสารหนี้ระยะสั้นมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงกว่าการกู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์

ความสัมพันธ์ระหว่าง GDP และตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเศรษฐกิจจริง

มูลค่าการออกตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเศรษฐกิจจริงมีแนวโน้มการขยายตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกับ GDP เนื่องจากเมื่อเศรษฐกิจมีการขยายตัวย่อมส่งผลให้ภาคเอกชนมีความต้องการเงินทุนระยะสั้นมากขึ้นเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ

เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ตั้งแต่ปี 2007 - 2014 ก็จะเห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกันอย่างชัดเจนกับการเติบโตของมูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะสั้นภาคเศรษฐกิจจริงยกเว้นในช่วงปี 2014 ที่มีทิศทางสวนทางกันเนื่องจากกลุ่ม Property ได้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้นอกจากมูลค่าการออกที่สูงแล้ว จำนวนผู้ออกก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย คือจาก 14 ราย ในปี 2012 เพิ่มขึ้นเป็น 29 รายในปี 2014

ในช่วงปี 2014 ที่ผ่านมา ภาคเศรษฐกิจจริงได้ออกตราสารหนี้ระยะสั้นซึ่งมี credit rating ที่หลากหลายมากขึ้น โดยในช่วงก่อนปี 2014 ผู้ออกตราสารมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่ม A+/A/A- เป็นส่วนใหญ่ แต่หลังจากปี 2014 ผู้ออกตราสารในกลุ่ม BBB และที่ไม่ได้จัด rating มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแก้ไขกฏเกณฑ์ของ กลต. ที่อนุญาติให้การเสนอขายนักลงทุนในวงจำกัดกลุ่มนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่(PP: II/HNW ) สามารถทำได้โดยไม่ต้องมี rating เนื่องจากเห็นว่านักลงทุนกลุ่มดังกล่าวมีความรู้ความสามารถเพียงพอในการเลือกตัดสินใจลงทุนและรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้

กลุ่มอุตสาหกรรมหลักในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น

แม้จะมีธุรกิจหลายอุตสาหกรรมที่มีส่วนร่วมในการออกตราสารหนี้ระยะสั้น แต่มีเพียงสองอุตสาหกรรมหลักที่มีสัดส่วนการออกตราสารหนี้ระยะสั้นค่อนข้างสูงมาโดยตลอด คือกลุ่ม Property และกลุ่ม Energy ซึ่งสองกลุ่มนี้มีสัดส่วนการออกตราสารหนี้ระยะสั้นรวมกันมากกว่า 50% ของทั้งตลาดมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2009 - 2014 โดยที่กลุ่ม Property นั้นเริ่มมีบทบาทสำคัญในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นแทนที่กลุ่ม Energy ตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา อีกประเด็นที่น่าจับตามองคือ เริ่มมีแนวโน้มที่กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะเข้ามาร่วมออกตราสารหนี้ระยะสั้นมากขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2012 เป็นต้นมา ซึ่งแสดงให้เห็นว่านอกจากตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชนจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในแง่ปริมาณการออกตราสาร และจำนวนผู้ออกตราสารแล้ว ความหลากหลายของผู้ระดมทุนก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

บทสรุป

ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นและตราสารหนี้ระยะยาว การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างและยอดการออกตราสารหนี้ที่เพิ่มขึ้นของทั้งสองตลาด ในช่วงปี 2006 - 2014 มูลค่าคงค้างของตราสารหนี้ภาคเอกชนเพิ่มขึ้นกว่า 165% คิดเป็นอัตราเฉลี่ยสูงถึง 13% ต่อปี ในตลาดตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชน การเติบโตดังกล่าวเกิดจากการเพิ่มขึ้นของการออกตราสารหนี้ระยะยาวโดยภาคเศรษฐกิจจริง ทั้งนี้ภาคเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ออกตราสารหนี้ระยะยาวซึ่งมีมูลค่ามากขึ้นเท่านั้น อายุตราสารหนี้ที่ออกก็มีแนวโน้มยาวขึ้นด้วย นอกจากนี้การเติบโตของตลาดตราสารหนี้ระยะยาวภาคเศรษฐกิจจริงมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ GDP และการลดลงของอัตราดอกเบี้ย

สำหรับตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชนนั้นต่างจากตลาดตราสารหนี้ระยะยาวภาคเอกชนเนื่องจากการเติบโตเกิดจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าคงค้างและมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคการเงินโดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อเป็นหลัก ทั้งนี้ไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนระหว่างอัตราดอกเบี้ยและการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นทั้งในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง ภาคเอกชนยังคงระดมทุนระยะสั้นผ่านการกู้เงินธนาคารพาณิชย์พร้อมๆกับการออกตราสารหนี้ระยะสั้น อย่างไรก็ตามเริ่มมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นระหว่างการเติบโตของ GDP และการเติบโตของตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นภาคเอกชน

กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นในการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนทั้งระยะสั้นและระยะยาว คือ กลุ่มพลังงานและอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง แต่ที่น่าสังเกต คือ กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้างเริ่มมีการเติบโตในอัตราที่สูงกว่ากลุ่มอื่นๆ นอกจากนี้ กลุ่มธุรกิจอื่นๆ เริ่มมีการออกตราสารหนี้ระยะสั้นในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากสถิติในช่วงสิบปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2004 - 2014 จะเห็นได้ว่า ตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนในประเทศไทยยังมีพื้นที่สำหรับการขยายตัวได้อีกมากในอนาคต

All Blogs