Individual Investors

  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Dec. 25, 2019
เหลียวหลังแลหน้า เงินลงทุนจากต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทย ฉบับปี 2562

ปี 2562 มีเหตุการณ์สำคัญที่น่าตื่นเต้นและสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดตลอดทั้งปี มีผลกระทบกับเงินลงทุนของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยผันผวนไปมาแค่ไหน?! อย่างไร?! เรามาทบทวนกันพร้อมคาดการณ์ถึงประเด็นที่ต้องจับตาในปีหน้า

หลังจากที่ กนง. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายทิ้งทวนไปเมื่อปลายปี 2561 ส่งผลให้เกิดแรงขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวตลอด 2 สัปดาห์สุดท้ายของปีรวมขายสุทธิกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท และแม้จะเปลี่ยนปีปฏิทินเข้าสู่ปี 2562 แล้ว แต่ควันหลงของแรงขายในตราสารหนี้ไทยระยะสั้นยังคงดำเนินอยู่เพื่อรับรู้ผลกำไร ต่อมาในเดือน ก.พ. และ มี.ค. การตอบโต้กันระหว่างสหรัฐฯ และจีนในประเด็นสงครามการค้ามีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติระมัดระวังการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ในไตรมาส 1 มีกระแสเงินทุนไหลออกจากตราสารหนี้ไทยสุทธิ 41,854 ล้านบาท

หลังจากที่มีข่าวดีที่จะบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้สลับเข้ามาในเดือนเมษายน พอเริ่มเข้าสู่เดือน พ.ค. ประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาเข้มข้นอีกครั้ง ทั้งสองประเทศต่างแสดงท่าทีจะปรับขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างกัน จนเป็นเหตุให้ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกต้องสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรับมือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นด้วยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง เช่น ธนาคารกลางของนิวซีแลนด์ ไอซ์แลนด์ รวมถึงประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างมาเลเซีย หรือแม้กระทั่งธนาคารกลางของจีนก็ปรับลดสัดส่วนเงินกันสำรองลง (Reserve Requirement Ratio) ในขณะที่เฟดยังคงตรึงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมถึง 2 รอบติดต่อกันถึงแม้จะได้รับแรงกดดันจากประธานาธิบดีทรัมป์ผ่านการทวีตข้อความให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงก็ตาม

ผลจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกประกอบกับมูลค่าการส่งออกที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยลดลงอย่างชัดเจน กดให้จีดีพีไตรมาส 1 ของปี 2562 เติบโตต่ำสุดในรอบ 17 ไตรมาส ส่งผลให้ตลาดเริ่มคาดการณ์ถึงโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงในอนาคตอันใกล้ พร้อมๆ กันกับกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าซื้อตราสารหนี้ไทยในช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย. รวมสุทธิถึง 66,940 ล้านบาท ผลจากการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนดังกล่าวถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบ 6 ปี ธปท. จึงมีการประกาศใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ทำให้นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตการลงทุนด้วยการทยอยขายตราสารหนี้ระยะสั้น เกิดเป็นกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 25,726 ล้านบาทในเดือน ก.ค.

เข้าสู่เดือน ส.ค. ดอกเบี้ยทั่วโลกต่างพร้อมใจกันปรับตัวลดลง เริ่มต้นจากเฟดที่ลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. รวมถึง กนง. ที่อีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมามีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหลายประเทศเริ่มปรับลงจนกลายเป็นติดลบ เช่น เบลเยียม และไอร์แลนด์ บางประเทศทำสถิติต่ำสุดรอบใหม่ เช่น สหราชอาณาจักร บางประเทศ พันธบัตรรุ่นอายุยาวต่ำกว่าอายุสั้นจนเกิดสภาวะ Inverted Yield Curve เช่น สหรัฐฯ ส่วนประเทศไทย อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 5 ปีและ 10 ปี ได้ทำสถิติแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.34% และ 1.43% ตามลำดับเมื่อวันที่ 29 ส.ค. จากอัตราผลตอบแทนที่ต่ำลง นักลงทุนต่างขาติจึงขายตราสารหนี้ไทยเพื่อรับรู้ผลกำไรรวมสุทธิ 78,902 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 3

เข้าปลายปีแม้ลมหนาวเริ่มมาเยือนไทย แต่ดูเหมือนปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังร้อนระอุไร้วี่แววที่จะยุติ รวมถึงการยืดเยื้อของ Brexit และการประท้วงในฮ่องกงที่ลุกลามขึ้นส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกเป็นลูกโซ่ต่อมายังเศรษฐกิจไทยจน กนง. ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 พ.ย. มาอยู่ที่ 1.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์เมื่อครั้งวิกฤตซับไพรม์ อย่างไรก็ตามนักลงทุนต่างชาติไม่ได้เร่งปรับพอร์ตมากเหมือนช่วงก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติชะลอการขายตราสารหนี้ไทยลงในไตรมาส 4 มีมูลค่าการขายสุทธิที่ 77,422 ล้านบาท (ข้อมูลไตรมาส 4 ณ วันที่ 25 ธ.ค. 62) คาดว่าเป็นเพราะทาง ธปท. ย้ำถึงระดับดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่อยู่ในระดับต่ำมากแล้วจึงช่วยจำกัดมุมมองขาลง สุดท้ายแล้วเงินลงทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยปีนี้จะจบลงที่เท่าไรจะได้รู้กันในอีกไม่กี่วันข้างหน้า พร้อมๆกับรอดูว่าจะมีข่าวดีเพิ่มเติมเรื่องสงครามการค้ามาสนับสนุนบรรยากาศการลงทุนส่งท้ายปีหรือไม่ หลังสหรัฐฯ ระงับการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนที่กำหนดไว้ในวันที่ 15 ธ.ค. รวมถึงจะลดอัตราภาษีลงถึง 50% ของภาษีที่เรียกเก็บก่อนหน้านี้

สำหรับปีหน้าฟ้าใหม่ มีหลายปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มของข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ชัดเจนขึ้น บทสรุปของ Brexit การประท้วงในฮ่องกงและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ รวมถึงปัจจัยภายในประเทศของไทยเองทั้งในเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจ ทิศทางนโยบายการเงินภายใต้เงื่อนไขที่ถูกจำกัดมากขึ้น และการลุ้นว่าบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกจะปรับเพิ่มอันดับเครดิตของไทยหรือไม่ ที่จะทำให้ปี 2563 มีเรื่องราวเกี่ยวกับกระแสเงินลงทุนที่เข้มข้นและน่าติดตามไม่แพ้ปีนี้แน่นอน ท้ายนี้ ขอสวัสดีปีใหม่ล่วงหน้า และขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จกับการออมการลงทุนกันถ้วนหน้าครับ

All Blogs