ตราสารหนี้สีเขียวกับการเติบโตอย่างยั่งยืน
  • Posted by:

    ThaiBMA
  • Posted on:

    Nov 07, 2018
ตราสารหนี้สีเขียวกับการเติบโตอย่างยั่งยืน

ตราสารหนี้สีเขียว หรือ Green Bond คือตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย Green Bond ก็มีคุณลักษณะเหมือนกับ Bond ทั่วไปแต่สิ่งที่แตกต่างก็คือ เงินที่ได้จากการระดมทุนด้วย Green bond ต้องนำไปลงทุนในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

การเดินทางของ Green Bond

Green Bond รุ่นแรกออกในปี 2550 หรือเป็นเวลากว่า 10 ปีมาแล้ว โดย European Investment Bank (EIB) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของตลาด Green Bond ในปัจจุบัน ในปี 2560 มูลค่าการออก Green bond สูงถึง USD 160.8 พันล้าน (หรือกว่า 5 ล้านล้านบาท) โดยมีผู้ออกกว่า 250 ราย จาก 37 ประเทศทั่วโลก ผู้ออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน และจีน โดยมากเป็นการลงทุนในโครงการที่เกี่ยวกับพลังงานทดแทน และ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ

อะไรคือมาตรฐานของ Green bond

การที่ผู้ออกจะเรียกตราสารหนี้ที่ตนเองออกว่า Green bond ได้จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่นักลงทุนยอมรับ มาตรฐานเกี่ยวกับ Green Bond ได้ถูกจัดทำขึ้นครั้งแรกโดย International Capital Market Association (ICMA) เรียกว่า Green Bond Principal (GBP) เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับออก Green bond ให้มีความน่าเชื่อถือและโปร่งใส สร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน โดยหลักการ GBP ของ ICMA ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้


1. Use of Proceeds คือ ต้องใช้จ่ายเงินที่ได้จากการออก Green Bond ในโครงการสีเขียวตามที่กำหนด อาทิ การใช้พลังงานทางเลือก การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การลดก๊าซเรือนกระจก การคมนาคมสะอาด การบริหารจัดการน้ำ การกำจัดน้ำเสียที่ไม่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2. Project Evaluation and selection คือ มีกระบวนการประเมินโครงการว่าเป็นไปตามเกณฑ์สีเขียว
3. Management of Proceeds คือ มีการจัดสรรเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้เฉพาะในโครงการสีเขียวที่กำหนด
4. Reporting มีการจัดทำรายงานและเปิดเผยข้อมูลต่อนักลงทุนถึงการใช้จ่ายเงินตามรอบระยะเวลา เช่น รายปี หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ

นอกเหนือจากมาตรฐาน Green bond principle ของ ICMA ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ปัจจุบันประเทศในอาเชียนได้ร่วมมือกันจัดทำ ASEAN Green Bond Standards เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการออก Green Bond ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3

ผู้นำตลาด Green Bond ในเอเชีย

จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการออก Green Bond มากที่สุดในเอเชีย โดยรัฐบาลมีนโยบายต่างๆในการสนับสนุน ทำให้ในปี 2560 จีนมีมูลค่าการออก Green Bond สูงถึง 37.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นยอดออกสูงสุดเท่าที่เคยออกมาและเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยหลักเกณฑ์การออก Green Bond ของประเทศจีนนั้นมี 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐาน People’s Bank of China (PBOC) ซึ่งสอดคล้องกับ GBP ในแง่ที่เงินทุนที่ได้จากการออก Green Bond ต้องนำไปลงทุนใน Green Project ทั้งหมดและต้องทำการแยกบัญชีการเงินสำหรับเงินที่ระดมทุนจาก Green Bond รวมถึงการจัดทำรายงานสรุปการเงินให้แก่นักลงทุนทุกปี

ส่วนอีกมาตรฐานหนึ่ง คือ National Development and Reform Committee (NDRC) แตกต่างจากเกณฑ์ GBP ในประเด็นขอบเขตโครงการที่นำเงินไปลงทุนได้และเงินที่ได้จากการระดมทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนใน Green Project ทั้งหมด สามารถนำเงินทุนบางส่วนไปลงทุนในโครงการอื่นที่ไม่ใช่ Green Project ได้ นอกจากนี้ก็ไม่จำเป็นต้องจัดทำรายงานสรุปการเงินให้แก่นักลงทุนอีกด้วย

ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย อาทิ ประเทศญี่ปุ่นก็มีการออก Green Bond ตั้งแต่ปี 2557 โดย Development Bank of Japan รวมถึง ประเทศเกาหลีใต้ก็มีการออก Green Bond โดยผู้ออกเป็นสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับธุรกิจสีเขียว ณ สิ้นปี 2560 มีมูลค่าการออกรวมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียนก็ให้ความสนใจ Green Bond โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาเลเซียได้ออกศุกุกสีเขียว (Green Sukuk) เป็นครั้งแรกด้วยมูลค่า 58 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีการออกตามมาอีก 2 รุ่นในปีเดียวกัน โดยอีก 1 ตัวอย่างที่น่าสนใจคือการออก Green Bond ในสิงคโปร์ที่มีการออก เพื่อปรับปรุงอาคารเก่าให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน

ตลาด Green Bond ในไทย

ในเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมาธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ได้ออก Green Bond มูลค่า 60 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,850 ล้านบาท อายุ 7 ปี นับเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของไทยที่มีการออก Green Bond โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการ Climate-Smart Project โดยหุ้นกู้ทั้งหมดขายให้แก่ International Finance Corporation (IFC)

จะเห็นได้ว่าจิตสำนึกการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ส่งผ่านมาถึงการดำเนินธุรกิจอย่างกว้างขวาง รวมถึงผลิตภัณฑ์การระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ด้วย ซึ่งช่วยส่งเสริมทางเลือกการระดมทุนของผู้ออกในโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และเพิ่มทางเลือกของนักลงทุนที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างสม่ำเสมอพร้อมๆ ไปกับการได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างนี้ก็ Win-Win สินะครับ

Green bond ตราสารหนี้สีเขียวกับการเติบโตอย่างยั่งยืน

All Blogs